วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วิจัย ระดับทัศนคติของนิสิตที่มีต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูล (บทที่ 1)

บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและปัญหา
ในปัจจุบัน สื่อเป็นปัจจัยหลักในการชี้นำ เปลี่ยนแปลง หรือคงไว้ซึ่งทัศนคติของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องในกระแส หรือทัศนคติทางการเมือง ดังนั้นจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สื่อมีส่วนทำให้สังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายดังเช่นทุกวันนี้ พฤติกรรมการเสพ หรือ รับสื่อของประชาชนทั่วไป โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะนิสัยของมนุษย์มักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้การรับฟังสื่อมักจะเป็นไปในลักษณะเลือกสื่อซ้ำๆ ที่เคยชิน ไม่มีการแสวงหาสื่อใหม่ๆ ในการรับข่าวสาร พฤติกรรมของสื่อในปัจจุบัน สื่อแต่ละเจ้า มักนำเสนอข่าวสารต่างๆโดยการไม่เสนอเฉพาะข้อเท็จจริง สื่อมักจะใส่ความคิดเห็นลงไปในข่าวด้วย จุดนี้เป็นจุดสำคัญอย่างมากที่ทำให้สื่อ กลายเป็นเครื่องมือชี้นำทัศนคติของผู้รับสารไปด้วย ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวเรื่องของการเมือง มักมีการนำเสนอความคิดเห็นของพิธีกรเพียงด้านเดียว หากตัวพิธีกรมีความเอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อข่าวที่นำเสนอแล้ว มักจะนำเสนอข่าวโดยแทรกความคิดเห็นเชิงชี้นำไปยังผู้รับสาร ทำให้เกิดการเลือกข้าง หรือคล้อยตาม ส่งผลต่อความขัดแย้งทางสังคม แนวทางการแก้ปัญหาคงจะบังคับให้สื่อเสนอข่าวแต่เพียงข้อเท็จจริง ก็คงเป็นไปไม่ได้ดังนั้น หากสื่อ นำเสนอข่าวแต่ละข่าว โดยใช้พิธีกรที่มีจุดยืนคนละด้าน มานำเสนอข่าวเดียวกันยกตัวอย่างเช่น หากจะนำเสนอข่าว หลวงปู่เณรคำให้พิธีกรท่านแรกใส่ความคิดเห็นในแนวลบกับพระเณรคำ ส่วนท่านที่สอง ให้ใส่ความคิดเห็นเชิงบวก เป็นต้น โดยขอเรียกว่าการนำเสนอข่าวโดยใช้สองทัศนคติที่ตรงกันข้าม (พีระ จิรโสภณ,2548)
โดยตามหลักความเป็นจริงแล้ว ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนนั้นควรปฏิบัติหน้าที่โดยดำรงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องแยกความคิดเห็นส่วนตัว ความชอบหรือไม่ชอบ อุดมคติทางการเมืองของตน ออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน อย่านำให้มามีอิทธิพลเหนือการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนที่ดีของตนเอง แต่ปัจจุบันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการสื่อของประเทศไทยในขณะนี้ นั่นก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สื่อเลือกข้างโดยเฉพาะกับคำถามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อบางคนที่ตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อต้องเป็นกลางแถมท้ายด้วยประโยคที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันก็คือ “ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความดีกับความเลวซึ่งคำพูดดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับคนทั่วไปที่จะใช้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ในการตัดสินว่าอะไรดีหรือเลว และใครเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว และตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างใด แต่กับสื่อมวลชนที่มีปากกาหรือสื่อเป็นอาวุธ จะต้องมีมาตรฐานหรือความยับยั้งชั่งใจ และความรับผิดชอบที่สูงกว่านั้น และจะไม่เอามาตรฐานของตนเองไปตัดสินว่าอะไรดี อะไรเลว ใครเป็นคนดีหรือคนเลว แล้วใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการโฆษณาความคิดและความเชื่อของตนเองตามใจชอบไม่ได้ แต่หน้าที่ของสื่อที่แท้จริง คือต้องให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เขาตัดสินได้ด้วยตัวเองมากกว่า  (ปรมะ สตะเวทิน, 2546)
อย่างไรก็ตามในการทำหน้าที่ สื่อจะวิพากษ์วิจารณ์ใครหรือเหตุการณ์ใด สื่อต่อทราบและระลึกถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองก่อน ว่าอยู่ในบทบาทไหนที่แตกต่างกันไปเช่น บทบาทในฐานะผู้รายงานข่าว (Reporter) บทบาทนี้ชัดเจนมากว่าผู้ทำหน้าที่สื่อจะต้องรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ ไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในการรายงานข่าว และถ้าเป็นข่าวที่มีลักษณะเป็นประเด็นโต้แย้ง (controversial issue) ต้องรายงานข้อมูลทั้งสองด้านอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทในฐานะผู้วิจารณ์ข่าว (Commentator) บทบาทนี้จะต้องแยกออกจากผู้รายงานข่าวอย่างชัดเจน โดยจะไม่อยู่ในคนๆเดียวกัน (พูดง่ายๆคือจะไม่รายงานข่าวและวิจารณ์ข่าวไปด้วย) เราจะเห็นในสื่อต่างประเทศดังๆอย่างเช่น CNN, CNBC, BBC เขาจะมีผู้รายงานข่าวหนึ่งคน และมีผู้วิจารณ์ข่าวอีกหนึ่งคน หรืออาจเชิญคนนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาเป็น Commentator ในเรื่องต่างๆ แต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ยังต้องตั้งอยู่บนเนื้อหาของข่าวที่นำเสนอ และความเห็นที่ให้นั้นก็ควรเป็นความเห็นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ความเห็นในมุมมองส่วนตัวของผู้วิจารณ์แต่เพียงผู้เดียว บทบาทในฐานะผู้เขียนบทความประจำ (Columnist) บทบาทนี้จะเป็นบทบาทที่เปิดโอกาสให้สื่อได้แสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ ในบทบาทนี้ผู้ที่เป็น Columnist ไม่จำเป็นจะต้องรักษาความเป็นกลางของสื่ออีกต่อไป จะแสดงจุดยืนของตนอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมายและไม่ละเมิดศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงามของสังคม บทบาทในฐานะผู้เขียนการ์ตูนล้อการเมือง (Cartoonist) บทบาทนี้เป็นที่ชัดเจนว่านักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองนั้น จำเป็นต้องมีความคิดเห็นทางการเมืองและต้องแสดงออก โดยเฉพาะมักจะต้องขัดแย้งกับนักการเมืองไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มักจะต้องเลือกข้าง แต่ก็มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองสมัยก่อนที่ไม่ได้เลือกข้างใคร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเมืองบ้านเราในสมัยก่อนไม่ได้แบ่งแยกกันรุนแรงเหมือนการเมืองในสมัยนี้ก็เป็นไปได้ นั่นก็คือบทบาทของสื่อ
ซึ่งผู้วิจัยคิดว่าถ้าแต่ละคนรู้จักกำหนดบทบาทของตัวเองให้ถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาในการทำหน้าที่ แต่ที่มีปัญหาอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นเพราะผู้ทำหน้าที่สื่อบางคนไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง อย่างเช่น นักเล่าข่าวทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์บางคนทำตัวเป็น reporter และ commentator ไปพร้อมๆกัน แยกบทบาทไม่ออกว่า กำลังรายงานข่าวหรือกำลังวิจารณ์ข่าวและที่ร้ายที่สุดก็คือใส่อารมณ์ รัก ชอบ เกลียด พอใจ ไม่พอใจ ลงไปในรายงานข่าว ในลักษณะมีอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยขณะที่รายงานข่าวไป ก็มีการแสดงความเห็นประกอบไป แบบประชดประชัน เชิงเสียดสี ซึ่งเป็นการละเมิดจรรยาบรรณของผู้ทำหน้าที่ผู้รายงานข่าวเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยปัญหาที่กล่าวข้างต้น ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญบทบาทหน้าที่ความเหมาะสมในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน  เพื่อวิจัยและสอบถามถึงความเหมาะสม ผลกระทบของการทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่อประชาชน ว่าตั้งอยู่ในความเหมาะสมกับฐานะการทำหน้าสื่อมวลชนอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือทำงานโดยยึดหลักจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนมากน้อยเพียงใด สำหรับการสื่อข่าวและการเขียนข่าวกับภารกิจหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในฐานะผู้แจ้งข่าวสารสู่สาธารณชน เพราะสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างอิสระ  และสามารถเข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆได้ด้วยอย่างไม่มีการปิดกัน  ข้อเท็จจริงหรือความจริงในเหตุการณ์และมีความรวดเร็วในการนำพาข้อมูลข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก  โดยที่ไม่มีการจำกัดว่ากลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นจะเป็นใครและสามารถสื่อสารได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว  ทำให้ผู้รับสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารทราบถึงข้อมูลต่างได้อย่างถูกต้อง ในฐานะฐานันดรที่ 4
ของสังคม

วัตถุประสงค์
                เพื่อศึกษาระดับทัศนคติของนิสิตที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าว
สมมุติฐาน
                ระดับทัศนคติของนิสิตต่อการนำเสนอข้อมูลต่างๆของสื่อมวลชนนิสิตมีความเห็นด้วยต่อการนำเสนอของสื่อมวลชน อยู่ในระดับมาก

ขอบเขตของการวิจัย
ขอบเขตด้านประชากร
                ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นิสิตมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 4 ในปีการศึกษา 2558
ขอบเขตด้านเนื้อหา
ศึกษาเรื่องบทบาทของสื่อมวลชนกับทัศนคติของนิสิตที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน
ขอบเขตด้านเวลา
                เดือนสิงหาคม เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ขอบเขตด้านพื้นที่
                พื้นที่ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

ประโยชน์ที่ได้รับ
ทราบถึงทัศนคติของนิสิตที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ

นิยามศัพท์เฉพาะ               
                   เพื่อให้เกิดความเข้าใจความหมายของข้อความเฉพาะที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงได้นิยามศัพท์เฉพาะ ดังนี้                                                                                                        
              ทัศนคติ  หมายถึง  ความรู้สึก ความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานในบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชน
              ข่าวสาร  หมายถึง เรื่องราว เนื้อหา สาระ หรือสารที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางสื่อมวลชน มีลักษณะเป็นสาธารณะ เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสารในวงกว้าง
สื่อสารมวลชน  หมายถึง บุคลากรภายในองค์กรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับข่าวสารต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน
สื่อ หมายถึง หนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์
บทบาท หมายถึง  สื่อมวลชนมีคุณสมบัติ ทักษะในการสื่อสาร เจตคติที่ดีใน 3 ด้าน ระดับความรู้เพียงพอ ความเข้าใจในบุคคล ระบบสังคม และวัฒนธรรม บุคลิกภาพ
การทำหน้าที่ หมายถึง  การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
กรอบแนวคิดในการทำวิจัย


กรอบแนวคิดในการทำวิจัย

การศึกษาระดับทัศนคติของนิสิตที่มีต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ


ปัจจัยส่วนบุคคล
-          เพศ
-          อายุ
-          คณะ
-          ชั้นปี
-          รายได้ต่อเดือน



บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน



     



 



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น