วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทบรรยายรายการวีดีทัศน์ เรื่อง โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ “โขนพระราชทาน” ศิลปะที่ราชินีทรงสืบสานเพื่อคนไทย

บทบรรยายรายการวีดีทัศน์
เรื่อง โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ
“โขนพระราชทาน” ศิลปะที่ราชินีทรงสืบสานเพื่อคนไทย
ความยาว 20 นาที


                     "โขนเป็นของวิเศษ นับวันจะไม่ได้แสดงก็กลัวว่าจะหายไปจากความนิยมของคนไทย ปรึกษาผู้รู้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนได้งดงามมาก นับว่าคุ้มค่าการรอคอยจริงๆ แสดงโขนเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นว่าประชาชนมาชมกันแน่นขนัด เพิ่มรอบก็ยังไม่พอ น่ารักที่ลูกพาคนแก่ ปู่ย่าตายายจูงมือไปดูโขนที่ทำเสร็จใหม่ เจ้าหน้าที่ชื่นใจได้รับคำชมจากประชาชนมากเลย การแสดงโขนครั้งนี้ไม่ใช่แค่เผยแพร่การแสดงศิลปะชั้นสูงเท่านั้น แต่พวกเราได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่เอี่ยมที่เข้าใจศิลปะการสร้างเครื่องแต่งกายโขนและเห็นความสัมพันธ์ครอบครัว การแสดงความรักเอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว และเสียงที่เรียกร้องให้จัดการแสดงโขนอีกนั้น ข้าพเจ้าก็รับฟัง และกำลังตรึกตรองว่าจะเลือกตอนไหนมาจัดแสดงอีก ขอให้แฟนๆ โขนคอยติดตามข่าวต่อไป รับรองว่าต่อไปต้องมีให้ชมแน่นอน ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอขอบคุณ กทม. สำนักนายกรัฐมนตรี ที่จัดนิทรรศการโขนชุดพรหมมาศ ซึ่งประชาชนได้รับชมความงดงามเครื่องแต่งกายโขนทุกชนิด" พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552

                     นั่นจึงเป็นที่มาให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสได้ชมโขนพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นศิลปะ วัฒนธรรมไทย ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักโขนอย่างถูกต้องตามโบราณ เราจึงได้โอกาสชมการแสดงโขนชุด พรหมมาศเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ในปี 2550 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องให้จัดแสดงซ้ำ กระทั่งต้องเปิดแสดงอีกครั้งในปี 2552 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2553 คือ "ชุดนางลอย" ปี 2554 คือ "ชุดศึกมัยราพณ์" ปี 2555 "ชุดจองถนน" ปี 2556 "ชุดโมกขศักดิ์" และในปี 2557 การแสดงโขน "ชุดศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ"

                     ความเป็นมาของการแสดงโขนพระราชทาน โขนพระราชทาน หรือโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ให้ดำรงอยู่สืบไป

                     “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น
  
                     ทั้งนี้ โขนไทย กำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จัดแสดงขึ้นเพื่อสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ อันเป็นเทวราชจุติมาสู่โลก เสมือนเป็นการอวตารของพระนารายณ์เพื่อดับความทุกข์เข็ญ โขนเป็นมหรสพที่จัดในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ แต่เดิมเป็นมหรสพหลวงในราชสำนัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ตั้งหน่วยงาน ที่รับผิดชอบโดยตรงในการแสดงโขน คือ กรมมหรสพ ซึ่งในปัจจุบันคือ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่ในการจัดแสดงโขนหลวงในงานราชการและเอกชน โดยมีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทำหน้าที่ในการศึกษา สืบทอดการฝึกหัดโขน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสถานศึกษาที่มีความสนใจจัดการเรียนและการแสดงโขนในบางโอกาส

                     โขน เป็นศิลปะการแสดงที่ประกอบด้วยศิลปะหลายแขนง ได้แก่ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วิจิตรศิลป์ และงานช่างประณีตศิลป์หลายสาขา ประกอบเป็นรูปแบบการแสดงโขนที่ประณีตงดงาม เป็นศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย โดยโขนพัฒนาการมาจากการแสดง 3 อย่าง ผสมผสานกันคือ ชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก เป็นการจำลองพิธีการกวนน้ำอมฤต ในตำนานการอวตารของพระนารายณ์ ปางกูรมาวตาร แสดงความเป็นอมตะของเทพเจ้า เป็นการแสดงตำนานสรรเสริญเทวดา สามารถชนะอสูรได้

                     หนังใหญ่ มหรสพโบราณที่นำแผ่นหนังแกะฉลุเป็นภาพตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีผู้เชิดตัวหนัง ให้เกิดเงาบนจอผ้าขาว มีคนพากย์และเจรจา พร้อมดนตรีประกอบ กระบี่กระบอง และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธประเภทต่างๆ ซึ่งได้นำมาใช้ในฉากการรบ ภายหลังโขนได้นำศิลปะการแสดงอื่นๆ เข้ามาผสมผสาน และได้พัฒนาการแสดงโขนไปในรูปแบบต่างๆ อาทิ โขนกลางแปลง เล่นในกลางสนาม หรือกลางแจ้ง นิยมแสดงกระบวนการยกทัพหรือยกรบด้วยคนจำนวนมาก ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงสองวง โขนหน้าจอ เป็นการแสดงโขนสลับการแสดงหนังใหญ่ ภายหลังคงเหลือเฉพาะแต่การแสดงโขน แต่ยังมีฉากหลังเป็นจอหนังใหญ่ โขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรง มีราวไม้ไผ่พาดแทนเตียงให้ตัวโขนนั่ง มีวงปี่พาทย์สองวง มีแต่การพากย์เจรจา ไม่มีเพลงร้อง โขนโรงใน เป็นการผสมผสานระหว่างโขนและละครใน โดยเพิ่มกระบวนเพลงร้อง การร่ายรำ ให้ประณีต งดงามมากขึ้น และโขนฉาก เป็นการนำโขนมาแสดงกับฉากที่สร้างให้สมจริงตามท้องเรื่อง และมีการนำเทคนิคอื่นๆ มาผสมผสานได้ เช่น แสง สี เสียง ตามความเหมาะสมของสถานที่และเวลาแสดง

                     อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อมีรับสั่งให้จัดมีโขนพระราชทานแล้ว ยังมีพระราชประสงค์ให้ต่อยอดช่างต่างๆ ที่มาร่วมกันรังสรรค์ส่วนงานต่างๆ จนประกอบเป็นการแสดงทั้งหมด เริ่มจากเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน วิธีการปักได้ศึกษาเทคนิควิธีการงานปักโบราณที่เป็นงานประณีตศิลป์ของไทยแต่อดีต ที่มีความซับซ้อนและสร้างจากวัสดุมีค่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของไทย จึงมีการฟื้นฟูวิธีการปักผ้าแบบต่างๆ ของไทยที่มีมาแต่โบราณ เช่น การปักสดึงกลึงไหม ปักดิ้นข้อ ดิ้นโปร่ง ปักดิ้นมัน ดิ้นด้าน ปักนมสาว ปักแล่งทอง ลูกปัด แก้วสี ถักตาชุน ปักปีกแมลงทับ ปักลวดลายด้วยโลหะ และอัญมณี เป็นต้น และมีการทอผ้าที่ใช้ในการสร้างเครื่องโขนมาแต่โบราณมาเป็นผ้าสำหรับปักเครื่องแต่งกาย เช่น ผ้าไหมพื้น ผ้าต่วนซาติน ผ้ายกไหม ผ้าตาด ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด พร้อมสอนต่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานกันต่อไป

                     หรือการออกแบบลวดลายพัสตราภรณ์ ที่ต้องแตกต่างกันตามฐานานุศักดิ์และความสำคัญของตัวละคร อย่าง ตัวพระ ออกแบบด้วยลายกนกไทย ที่เรียกว่า ลายพระกระบวนคือลวดลายชั้นสูงที่ใช้ในเครื่องต้นเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ ปักด้วยดิ้นข้อ ดิ้นโปร่ง ดิ้นด้าน ดิ้นมัน ปักแมลงทับเลื่อม ที่ละเอียดซับซ้อน ตัวนาง ตัวนางเอก และนางชั้นสูง ออกแบบลวดลายด้วยลายกนกไทย และลายปักสดึงกลึงไหมบนผ้าตาด ผ้าต่วนซาติน ด้วยดิ้นข้อ ดิ้นโปร่ง นมสาวเลื่อม และไหมทอง ปีกแมลงทับ และออกแบบกรองคอปักกรึงด้วยงานดุนโลหะประดับอัญมณีเช่นเดียวกับกรองคอในพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งนั่นเองที่ต้องหาช่างที่รู้จริงและปักได้สวยงามมารับงานดังกล่าว พร้อมสอนต่อให้รุ่นถัดมาได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง

                     รวมไปถึงการรับสมัครนักแสดงโขนหน้าใหม่ที่นับวันจะมีเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ แห่ไปสมัครการแสดงโขนในตัวต่างๆ มากขึ้นทุกปี โดยปีล่าสุดมีผู้สมัครมากกว่า 800 คน ทั้งๆ ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ร่วม ซึ่งนี้ก็เป็นกุศโลบายในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ในศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง และรักในเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปพร้อมๆ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา  ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าถวายพระพรชัยมงคล ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอานุภาพแห่งสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อีกทั้งพระเดชานุภาพแห่งพระสยามเทวาธิราช พระบารมีแห่งพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ได้โปรดอภิบาลประทานพรให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงพระเกษมสำราญ พระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของเหล่าพสกนิกรชาวไทยตลอดกาลนิรันดร์เทอญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น