วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

9 พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


1463044_626146650765272_107944788_n
1.คนดี
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)
2.อนาคตทำนายได้
“ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 กรกฎาคม 2519)
3.ความดี
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ซโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525)
king1a
4.การทำงาน
“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)
5.คุณธรรมของคน
“ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535)
mykings
6.ความเพียร
“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”
(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)
7.แก้ปัญหาด้วยปัญญา
“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล
เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น
ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)
644992-topic-ix-3
8. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ 
“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521)
9.พูดจริง ทำจริง 
“ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540)

9 พระราชอารมณ์ขันของในหลวง

 เรื่องที่ 1
เหตุการณ์เมื่อปี 2513 วันนั้นท่านทรงเสด็จไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด พร้าว เชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ไปแอ่วบ้านเฮา ท่านก็ทรงเสด็จ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง
เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำๆ จับ ทางผู้ติดตามรู้สึกเป็นห่วง เพราะปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่าควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานผู้ติดตามจัดการเอง
แต่ท่านก็ทรงดวดเอง กร้อบเดียวเกลี้ยง ตอนหลังทรงรับสั่งว่า "ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด" 


 เรื่องที่ 2
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในระหว่างที่ทรงเปลี่ยนในครุย ทรงสูงมวนพระโอสถ แต่ว่าทรงหาที่จุดไม่ได้ ทางอธิการบดีซึ่งเฝ้าอยู่ก็จุดไฟให้พร้อมทูลว่า
"ถวายพระเพลิงพระเจ้าข้า"
ในหลวงทรงชะงัก ก่อนจะแย้มสรวลน้อยๆกับอธิการบดีว่า
"เรายังไม่ตาย ถวายพระเพลิงไม่ได้หรอก


 เรื่องที่ 3
วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย
พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาท ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมาจับ พระหัตถ์ของในหลวง
แล้วก็พูดว่ายายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร แต่พวกข้าราชบริภารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤหัย หรือไม่
แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบว่ากับหญิงชราคนนั้น ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวเพราะ พระองค์ทรงตรัสว่า
"เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก"


 เรื่องที่ 4
เรื่องนี้รุ่นพี่ที่จุฬาฯเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ปีนึงที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร อธิการบดีอ่านรายชื่อบัณฑิตแล้วบังเอิญว่ามีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้อ่านขาดตอน ก็ต้องรีบหาว่าอ่านรายชื่อไปถึงไหนแล้ว ปรากฏว่าในหลวงท่านทรงจำได้ ท่านเลยตรัสกับอธิการไปว่าเมื่อกี้นี้ ชื่อ....) เค้ารับไปแล้ว
และมีอีกปีนึงขณะที่พระราชทานปริญญาบัตรอยู่ดีๆ ไฟดับไปชั่วขณะ ทำให้บัณฑิตคนหนึ่งพลาดโอกาสครั้งสำคัญใน การถ่ายรูป
พอในหลวงทรงพระราชทานปริญญาบัตรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะให้พระบรมราโชวาท ท่านทรงให้อธิการบดีเรียกบัณฑิตคนนั้นมารับพระราชทานอีกครั้งเพื่อจะได้มีรูป ไว้เป็นที่ระลึก ตื้นตันกันถ้วนทั่วทั้งหอประชุม


 เรื่องที่ 5
ที่ปักษ์ใต้ทรงมีชาวบ้านไทยมุสลิมที่สนิทสนมกันมาก และมักเสด็จไปเยี่ยมเสมอโดยมิได้บอกให้รู้ตัวล่วงหน้า
วันหนึ่งเมื่อมีพระราชประสงค์ที่ทรงอยากทราบว่า ปัญหาดินเปรี้ยวนั้นมีมากน้อยเพียงใด และบรรดาเกษตรกรนั้นพบกับความเดือดร้อนลำบากยากเข็ญเป็นไฉน
บ่ายนั้น ทรงเอ่ยถามชาวบ้านผู้หนึ่งที่อยู่กลางนาในจังหวัดนราธิวาสว่า.. "ดินที่นี่เปรี้ยวไหม."
ชายผู้นั้นยกสองมือพนมไหว้พร้อมกราบบังคมทูล ด้วยภาษาสามัญสำเนียงปักษ์ใต้ในสีหน้าท่าทางเรียบแบบงงๆ ว่า "..ในหลวงครับ ผมไม่เคยชิมเลยครับ เลยไม่รู้จริงๆ ว่าดินที่นี่เปรี้ยวหรือเปล่า.."
ทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์สำราญพร้อมผินพระพักตร์มายังดร.สุเมธ และรับสั่งว่า
"เออ จริงของเขา เราถามผิดเอง.."
จากเรื่องนี้คือที่มาของหนึ่งในโครงการพระราชดำริ 'แกล้งดิน' ที่ทรงแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวให้เปรี้ยวจัดสุดขีดแล้วผ่อนคลายด้วยหลายวิธีให้มีการปรับคุณภาพของดินให้ใช้การได้ในภายหลัง


 เรื่องที่ 6
เรื่องความละเอียดอ่อนและรอบรู้ในสรรพวิชาของในหลวงนั้น มีนานัปการ และทรงเป็นนักวิเคราะห์และสังเกตได้อย่างที่ไม่มีผู้ใดคาดถึง
สมัยเมื่อหลายปีก่อนยามที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามงานใดในพระราชดำริก็มักมีการเตรียมพื้นที่ประดับต้นไม้ใบหญ้าสารพัดเพื่อให้สมพระเกียรติ
ดร.สุเมธเล่าว่า ทรงเรียกต้นไม้ดอกไม้ทั้งหลายว่า 'ต้นไม้รับเสด็จ' บ้าง หรือ ปลูกผักชีรับเสด็จบ้าง เพราะบางที่มีทั้งกระถางโผล่มาให้ทรงเห็นในแปลงเกษตรทั้งหลายก็มี
หรือในครั้งหนึ่งเมื่อรถพระที่นั่งถึงบริเวณโครงการแห่งหนึ่ง ทรงสัพยอกถามเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่า
"...มีปลูกผักชีด้วยหรือเปล่า..."
ผู้นั้นกราบทูลหน้าตาซื่อว่า "มีพระพุทธเจ้าข้า พร้อมทำท่านำเสด็จฯไปทอดพระเนตรอย่างขึงขัง"
ทรงชี้ไปยังกลุ่มกอกล้วยน้ำว้ากอใหญ่ที่ต่างออกดอกปลีมีผลเป็นเครือสวยงาม และตรัสว่า
"นี่ก็เป็นต้นกล้วยรับเสด็จด้วย"
พร้อมนั้นมีพระราชาธิบายว่า "ธรรมชาติของกล้วยนั้นจะออกดอกผลไปในทางทิศเดียวกัน.."
แต่กล้วยที่นี่ออกลูกได้ในทุกทิศ จึงเป็นกล้วยรับเสด็จที่ทรงจับได้ในวันนั้น
นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีพระอารมณ์ขันในยามทรงงานด้วยเช่นกัน


 เรื่องที่ 7
พระองค์ท่านเสด็จไปที่จังหวัดสกลนคร เพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้าน
และพระองค์ก็ทรงตรัสถามชายคนหนึ่งที่มาเข้าเฝ้าเพราะแขนเจ็บเข้าเฝือก
ในหลวงทรงรับสั่งถามว่า "แขนเจ็บไปโดนอะไรมา "
ชายคนนั้นตอบว่า "ตกสะพาน"
แล้วในหลวงทรงรับสั่งกลับไปอีกว่า " แล้วแขนอีกข้างหนึ่งละ "
ชายคนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า "
แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วยตกข้างเดียว"
ในหลวงของเราก็ทรงพระสรวล


 เรื่องที่ 8
ครั้งหนึ่งหลายๆ ปีมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรนิดหน่อยเกี่ยวกับพระฉวีมีพระอาการคัน มีหมอโรคผิวหนังคณะหนึ่งไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายการรักษา คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนังแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญทางราชาศัพท์ ก็กราบบังคมทูลว่า
"เอ้อ - ทรง... อ้า- ทรงพระคันมานานแล้วหรือยังพะยะค่ะ"
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า
"ฉันไม่ใช่ผู้หญิงนี่ จะท้องได้ยังไง"
แล้วคงจะทรงพระกรุณาว่าหมอคงจะไม่รู้ราชาศัพท์ทางด้านอวัยวะร่างกายจริงๆ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า
" เอ้าพูดภาษาอังกฤษกันเถอะ"
เป็นอันว่าก็กราบบังคมทูลซักพระอาการกันเป็นภาษาอังกฤษ


 เรื่องที่ 9
เช้าวันหนึ่ง เวลาประมาณ 7 โมงเช้า นางสนองพระโอฐษ์ ของฟ้าหญิงองค์เล็ก ได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงผู้ชาย ขอพูดสายกับฟ้าหญิง
ทางนางสนองพระโอฐก็สอบถามว่าใครจะพูดสายด้วย ก้อมีเสียงตอบกลับมาว่า คนที่แบงค์
นางสนองพระโอฐก้อ งง ...งง ว่าคนที่แบงค์ทำไมโทรมาแต่เช้า แบงค์ก้อยังไม่เปิดนี่หว่า
พอฟ้าหญิงรับโทรศัพท์แล้วถึงได้รู้ว่า คนที่แบงค์น่ะ ที่แบงค์จริงๆนะ ไม่เชื่อเปิดกระเป๋าตังค์ แล้วหยิบแบงค์มาดูสิ

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "ซุ้มสำหรับในหลวง"


ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ห้า โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว
วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ จึงไม่ยอมให้รถผ่าน …ต้องให้ในหลวงเสด็จฯก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้… วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อน พระองค์จึงทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงออกข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว….  วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ
พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตาม และทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า “วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ..”
3576

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "เรียกน้าซิ ถึงจะถูก"


วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมายพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระ บาท ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมา จับ พระหัตถ์ของในหลวง แล้วก็พูดว่ายายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้
อีกตั้งมากมายแต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร แต่พวกข้าราชบริภารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤหัย หรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบว่ากับหญิงชราคนนั้น ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวเพราะ พระองค์ทรงตรัสว่า “เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก”
jenny@mrpalm.coms_7rb1dqcr0q

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "เราจับได้แล้ว"


….ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ “ก้าวไกลไทยทำ” วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 “The BOI Fair 1995 commemorates the 50th Anniversary of His Majesty King Bhumibol Adulyadej’s reign” (Board of Investment Fair 1995 BOI) หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามศาลาการแสดงต่างๆ ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น “พิภพใต้ทะเล” โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด “Magic Vision” น้ำลึก 20,000 league จะมีช่วงให้แลเห็นสัตว์ทะเลว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็กๆ สีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า
ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่า ถ้าใครจับปลาได้เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์ พวกเราไขว่คว้าเท่าไหร่ก็จับไ ม่ได้ เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “เราจับได้แล้ว” พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ “อยู่ในนี้” ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้ บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้…

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "ไม่ขึ้นเงินเดือน"


ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพ และทรงถ่ายภาพต่างๆอยู่เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ไปปรากฏอยู่ในนิตยสาร”สแตนดาร์ด” ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า…
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปีมาแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ ๑๐๐ บาทอยู่เรื่อยมา”
ในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎร

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "เพื่อนเยอะ"


การเสด็จประพาสอเมริกาครั้งนั้น ควรจะได้เล่าถึง “บ๊อบ โฮ้พ” ไว้ด้วย เพราะทรงคุ้นเคยกับดาราผู้นี้ตั้งแต่ครั้งบ๊อบ โฮ้พ มาแวะกรุงเทพฯ เพื่อจะไปเปิดการแสดงกล่อมขวัญทหารอเมริกันในเวียดนาม ระหว่างแวะพักที่กรุงเทพฯ บ๊อบ โฮ้พ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่วังสวนจิตรฯ โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงดินเนอร์ด้วย
บ๊อบ โฮ้พ กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ขอพาเพื่อนไปด้วย”
“ได้เลย… ไม่ขัดข้อง” รับสั่งตอบ “พาเพื่อนของคุณมาได้เลย”
“ต้องขอขอบพระทัยแทนเพื่อนหกสิบสามคนของข้าพระพุทธเจ้าด้วย”
คืนนั้น บ๊อบ โฮ้พ ได้นำวงดนตรีของเขา เข้าไปเล่นถวายอยู่จนดึก จึงกราบกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ที่บ้านของเขา รับสั่งว่า “ยินดี… ฉันพาเพื่อนหกสิบสามคนของฉันไปด้วยนะ”

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "หลานรัง"

ครั้งหนึ่งในภาคใต้ ข้าพเจ้าติดตามคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (ต่อมาเป็นท่านผู้หญิง) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ค่ายทหารบ้านทอน จ.นราธิวาส
พระองค์มีพระราชดำรัสกับคุณหญิงหลายเรื่อง ได้รับสั่งถึงสภาพทางหลวงหลายสายในภาคใต้ ซึ่งคุณหญิงได้ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน
เมื่อทรงถามถึงสภาพทางสาย อ.รามัน – ดโละหะลอ – อ.รือเสาะ ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลว่า ยังมีสภาพทางเป็นทางก่อสร้าง และได้จัดให้เข้าอยู่ในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก ขณะนี้ได้ลงลูกรังไว้แล้ว รถยนต์วิ่งผ่านได้ตลอดปี พระองค์รับสั่งว่า.. “เห็นมีแต่หลานรัง”
ครั้งแรกข้าพเจ้ายังงงอยู่ นึกไม่ออกว่าคำว่าหลานรังคืออะไร แต่ก็คิดได้ทันทีนั้นว่า แม่รังหมายถึงลูกรังก้อนใหญ่ และลูกรังนั้นมีขนาดเล็กขนาดต่างๆ คละกัน ดังนั้น คำว่าหลานรังคงหมายถึงลูกรังที่มีขนาดละเอียดมากนั่นเอง…ทางที่พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินมา คงจะลื่นมากหรือติดหล่มในเวลาฝนตก
ภาพในหลวง

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง "ชื่อเดียวกัน"


เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวง ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้  เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป      และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่างๆ นานัปการ
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้น จนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูลฯ จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาเป็นอย่างดีก็ตาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน …. ”
เมื่อคำกราบบังคมทูล ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน.. .”ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้กราบบังคมทูลรายงานตื่นเต้น จนกระทั่งจำชื่อตนเองไม่ได้

ความเป็นมาของรางวัลโนเบล (Nobel prize)

อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ชุดดินระเบิดที่เรียกว่า ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) หรือระเบิดไดนาไมต์ รู้สึกเสียใจที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์ เมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1896 เขาระบุในพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้นำไปตั้งมูลนิธิโนเบล เพื่อเป็นการสนับสนุน และมอบรางวัลให้แก่บุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ โนเบลแสดงเจตนารมณ์ไว้ในพินัยกรรมของเขาอย่างชัดแจ้งว่า “…It is my express wish that in awarding the prizes no consideration be given to the nationality of the candidates, but that the most worthy shall receive the prize, whether he be Scandinavian or not. …” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลนี้ต้องเป็น “บุคคลผู้อำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ” โดยไม่จำกัดว่าบุคคลผู้นั้นจะมีเชื้อชาติไหน พูดภาษาใด
พิธีมอบรางวัลโนเบลจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยจัดขึ้นครั้งแรกหลังจากโนเบลเสียชีวิตไปได้ 5 ปี (ค.ศ. 1901) มี 5 สาขา คือ คือ ฟิสิกส์ (physics) เคมี (chemistry) การแพทย์และสรีรวิทยา (physiology or medicine) วรรณกรรม (literature) สันติภาพ (peace) และในปี ค.ศ. 1969 จึงเพิ่มรางวัลอีก 1 สาขา คือสาขาเศรษฐศาสตร์ (economic)
ความเป็นมาของรางวัลโนเบล (Nobel prize)
ผู้พระราชทานรางวัลโนเบล คือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน แม้ว่าบางปีรางวัลบางสาขาอาจไม่มีการตัดสิน แต่มีข้อกำหนดว่าระยะเวลาของการเว้นการมอบรางวัลต้องไม่เกิน 5 ปี รางวัลที่มอบให้ประกอบด้วยเหรียญทองที่ด้านหน้าสลักเป็นรูปหน้าของอัลเฟร็ด โนเบล พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินสด
รางวัลโนเบลถือ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และทรงเกียรติของชาวโลก ถือเป็นสิ่งที่เชิดชูเกียรติ บ่งบอกถึงความเก่งกาจ ยอดเยี่ยม และเป็นผู้อุทิศตนเพื่อความเจริญก้าวหน้า ความสงบและสันติของสังคมโลก
ที่มา : หนังสือ NOBEL PRIZE 100 ผู้พิชิตรางวัลโนเบล ผู้เขียน ศ.ดร. สุทัศน์ ยกส้าน, รศ. ดร. ญาดา ประภาพันธ์, พ.ท.ผศ.ดร. พีรพล สงนุ้ย, พ.ท.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์, ร.อ. ชุมพล รักงาม, พ.อ.หญิง ชมนาค เทียมพิภพ, ลอองทิพย์ อัมรินทร์รัตน์, วรุณยุพา ฮอล ลิงกา

พระราชอารมณ์ขันของในหลวง ยิ้มของฉัน


เมื่อ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจต่อสื่อมวลชนของอเมริกาเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระราชทานสัมภาษณ์ นักข่าวหนุ่มคนหนึ่งได้ทูลถามว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก… ไม่ทรงยิ้มเลย?”
 ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พลางรับส่งว่า“นั่นไง… ยิ้มของฉัน”
แสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ และพระราชอารมณ์ขันอันล้ำลึกของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นที่รักของประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ในวันที่เสด็จฯ รัฐสภาคองเกรส เพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อสภา จึงทรงได้รับการถวายการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานหลายครั้ง

ในหลวง

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

สหราชอาณาจักรกับอังกฤษ ต่างกันอย่างไร



สหราชอาณาจักรกับอังกฤษ ต่างกันอย่างไรประเทศอังกฤษที่ชาวไทยรู้จัก มีชื่อเต็มว่า United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland แปลเป็นภาษาไทยว่า
“สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ” เรียกสั้นๆ ว่า United Kingdom หรือ UK แปลเป็นภาษาไทยว่า สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรประกอบด้วยดินแดน 4 ส่วนหรือแคว้น
– 3 ส่วนอยู่บนเกาะอังกฤษ คือ แคว้นอังกฤษหรืออิงแลนด์ แคว้นสกอตแลนด์ และแคว้นเวลส์
– 1 ส่วนอยู่บนเกาะไอร์แลนด์ คือ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ
เหตุผลที่ผู้คนทั่วโลกเมื่อพูดถึงสหราชอาณาจักร มักจะใช้แต่คำว่าอังกฤษหรืออิงแลนด์ ผู้รู้ส่วนใหญ่อธิบายว่า..
อาจเป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ คือ แคว้นอังกฤษ เป็นแคว้นใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลครอบงำแคว้นอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร มาเป็นเวลานาน เมื่อครั้งที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าอาณานิคมทั่วโลก ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ และบรรดาพ่อค้า ก็มักจะเป็นคนจากแคว้นอังกฤษมากกว่าคนจากแคว้นอื่นๆ จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อมีคนถามว่า “มาจากไหน” ก็จะได้ยินคำตอบว่า “มาจากอิงแลนด์หรืออังกฤษ” คำว่า “อังกฤษ” จึงอาจกลายเป็นคำนามที่ใช้เรียกแทนสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้สถานฑูตอังกฤษทั่วโลกจะใช้คำว่า British Embassy ไม่ได้ใช้คำว่า UK Embassy เรื่องนี้ผู้รู้บอกว่า British เป็นคำคุณศัพท์ของ Britain ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ แปลว่า อังกฤษ เหมือนกัน ฉะนั้นการที่สถานฑูตอังกฤษจะใช้ว่า British Embassy จึงไม่น่าจะผิดอะไร
สำหรับคนต่างชาติ เวลาได้ยินหรือได้เห็นคำว่า Britain หรือตัวย่อ GB เช่น จากกีฬาโอลิมปิก โดยทั่วไปก็ตีความไปได้ทันทีว่า หมายถึง สหราชอาณาจักรทั้งประเทศซึ่งรวมถึงไอร์แลนด์เหนือด้วย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับครีมกันแดด


อากาศร้อน และแดดแรง อย่างประเทศไทย ครีมกันแดดจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพผิว เมื่อต้องเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับตัวเอง มองดูฉลากข้างกล่องแล้วก็มีศัพท์ที่น่าสนใจ ให้เราต้องเลือกดังนี้
1. “SPF” ย่อมาจาก Sun Protection Factor เป็นค่าในการชี้วัดว่าเราสามารถอยู่กลางแสงแดดได้นานแค่ไหน โดยที่ไม่รู้สึกร้อนหรือแสบบริเวณผิว เช่น ถ้าเรามีผิวที่แพ้แสงแดดและแสบร้อนง่ายในเวลา 20 นาที ครีมกันแดดที่มี SPF 15 จะช่วยปกป้องเราจากแสงแดดได้นาน 15 เท่า และเมื่ออยู่กลางแดดมากๆ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้นจากวอลมาร์ท (Walmart) ถึง โลตัส (Lotus)
2. “Waterproof” แม้จะเขียนว่า Waterproof (กันน้ำ) แต่ก็ไม่สามารถกันน้ำได้ 100% ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลต้องทาครีมกันแดดอย่างต่อเนื่อง โดยทาซ้ำทุกครั้งที่เหงื่อออก หรือทุกครั้งในช่วงพักว่ายน้ำ
3. “UVA และ UVB” ถ้าเขียนไว้ว่า.. มี UVA หมายถึง ครีมกันแดดนั้น มีคุณสมบัติ ป้องกันกระ ฝ้า และป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย แต่ถ้าเขียนไว้ว่า.. มี UVB หมายถึง ครีมกันแดดนั้นมีคุณสมบัติ ป้องกันอาการแพ้ แดง แสบภาพประกอบจาก http://www.nivea.co.th และไหม้ของผิวหนัง
หวังว่า..จะเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับตัวเองได้ดีขึ้น ส่วนเทคนิคในการใช้งานครีมกันแดดที่ต้องจำไว้ให้แม่นๆ ก็คือ ครีมกันแดด ไม่สามารถป้องกันแสงแดดได้ 100% ดังนั้น เมื่อต้องออกแดด เช่น เล่นกีฬากลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดด หรือหมวกกันแดดจะป้องกันได้มากขึ้น ส่วนการทาผิวควรเกลี่ยครีมให้เรียบเสมอ และทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการปกป้องจากแดด เพื่อป้องกันผิวด่างดำเฉพาะที่ และเลิกใช้ทันทีถ้ามีอาการแพ้ มีผื่นแดง และคัน
ที่มา : นิตยสาร “ผาสุก” (phasuk) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ปีที่ 31 ฉบับที่ 163 เมษายน – มิถุนายน 2551

ความหมายของตัวเลขตามความเชื่อ

พูดถึงเรื่อง  นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ให้ความสนใจทั้งสิ้น เชื่อว่าทุกเชื่อชาติต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลขด้วยกันทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง เช่น ตัวเลขจากเลขทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บ้าน และอื่นๆอีกมากมายที่ยังไม่ได้หยิบยกมาพูดถึงกัน จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของตัวเลขตามความเชื่อมาให้ได้ทราบกัน ดังนี้
 ศาสตร์ตัวเลข
เลข 1 หมายถึง ความเป็นหนึ่ง ,เป็นที่หนึ่ง
เลข 2 หมายถึง ง่ายๆ สบายๆ
เลข 3 หมายถึง การเกิด
เลข 4 หมายถึง ซี้ ที่แปลว่าตาย
เลข 5 หมายถึง ไม่
เลข 6 หมายถึง เส้นทาง, การเดินทาง
เลข 7 หมายถึง เสน่ห์ ,ความมีเสน่ห์
เลข 8 หมายถึง ร่ำรวย
เลข 9 หมายถึง ความมั่นคง
 ศาสตร์ตัวเลข
เวลาแปลความหมายของเลขที่บ้าน หรือทะเบียนรถ มักจะแปลเรียงกันทีละตัว แล้วนำมาดูความหมายรวมๆ ว่าดีหรือไม่ดี เช่น เลขบ้าน 789 หมายถึง ความมีเสน่ห์ และรวยอย่างมั่นคง 68 หมายถึง เส้นทางแห่งความรวย เป็นต้น
ศาสตร์ตัวเลข
หากความหมายที่ได้ออกมาไม่ค่อยดี ก็มักจะให้หาตัวเลขที่มี ความหมายในทางแก้ไขได้มาติด เช่น ทะเบียนรถ 342 แปลว่า เกิด และตายอย่างง่ายๆ ก็ไปหาสติกเกอร์ เลข 5 ตัวเล็กๆ มาติดตรงหน้าเลข 4 จะได้แปลว่า เกิดแล้วไม่ตายง่ายๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล
ถ้าตามตำราโหราศาสตร์ ของไทย ซึ่งตัวเลขแต่ละตัว มันก็คือ ตัวแทนของดวงดาวแต่ละดวง เมื่อเราทราบเกี่ยวกับความหมายของดาว เราก็สามารถรู้ความเป็นไปในชีวิตของแต่ละคนได้เหมือนกัน
ซึ่งในเรื่องนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลเช่นเดียวกัน ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ เพราะก็มีคนดังหลายๆ คนที่ดังเป็นพลุแตกเพราะว่าเชื่อเรื่องศาสตร์ตัวเลขนี่เอง…

6 วันอันตราย ตามความเชื่อโบราณ !!

เรื่องของโบราณเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธหรือลบหลู่ไม่ได้เลยจริงๆ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปแค่ไหน ความทันสมัยมากมายเข้ามาปกคลุมซึมแทรกเข้าไปในชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคใหม่ๆ
แต่ "ความเชื่อ" ก็ไม่จางหายไปจากคนไทยเรา ตัวอย่างเช่น 6 ความเชื่อเรื่องวันต่างๆ ต่อไปนี้ ก็เป็นเรื่องความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเช่นกัน 
ความเชื่อโบราณ
คนสมัยโบราณมีความเชื่อเกี่ยวกับวันห้ามทำสิ่งต่างๆทั้ง 6 วัน ดังต่อไปนี้
ห้ามขึ้นบ้านใหม่ วันเสาร์
ห้ามเผาผี วันศุกร์
ห้ามโกนจุก วันอังคาร
ห้ามแต่งงาน วันพุธ
ห้ามตัด วันพุธ
ห้ามถอน วันพฤหัสบดี
ห้ามเผาผีวันศุกร์ เพราะวันศุกร์เป็นวันแห่งโชคลาภ ความสุข ความรื่นเริง ดังมีคำกล่าวที่ว่า "เผาผีวันศุกร์" ให้ทุกข์แก่คนยัง (คนที่ยังมีชีวิตอยู่)
ห้ามโกนจุกวันอังคาร เพราะถือว่าเป็นวันแข็ง อาจจะเกิดอุบัติเหตุจนเลือดตกยางออกได้
ห้ามแต่งงานวันพุธ เพราะคนสมัยโบราณถือว่าวันพุธเป็นวันรวนเร หากมีการหมั้นหมาย หรือแต่งงานจะทำให้ชีวิตคู่เกิดความรวนเรไม่มั่นคง สุดท้ายก็อาจเลิกรากันไป
ห้ามตัดวันพุธ เช่น ตัดผม เพราะถือว่าวันพุธเป็นวันแตกหน่อเจริญเติบโต จึงห้ามตัดผมตัดต้นไม้ ด้วยเหตุนี้ร้านตัดผมจึงมักปิดในวันพุธนั่นเอง
ส่วน วันพฤหัสบดี นั้น เป็นวันที่อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงมั่งคั่ง จึงห้ามถอนต้นไม้ ห้ามถอนเสาเรือน หรือทำการโยกย้ายสิ่งของใดๆ ที่สำคัญ
อีกทั้งยังถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครูด้วย อีกวันหนึ่งที่ห้ามทำการมงคลใดๆ ก็คือ วันที่เกิดจันทรคราสและสุริยคราส ในช่วงก่อนและหลังวันดังกล่าว 15 วัน ห้ามทำการมงคลใดๆเด็ดขาด!

ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

ความสะอาดของคอนแทคเลนส์เป็นสิ่งสำคัญมาก นึกดูว่าเพียงแค่มีเศษผงเล็กๆ เข้าตา ยังทำให้แสบตาจนน้ำตาไหล แต่คอนแทคเลนส์ต้องสัมผัสติดกับดวงตา โดยตรงเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หากสะอาดไม่เพียงพอ จะมีผลเสียต่อดวงตา มากมายเพียงใด
การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าใช้วิธีแช่เพียง อย่างเดียวก็ได้ เพราะ ข้อความ No Rub ในคำแนะนำการใช้ข้างกล่องคอนแทคเลนส์ ไม่ได้แปลว่าห้ามถู ความจริงแล้วแปลว่า ไม่ต้องถูก็พออนุโลมได้
มีรายงานวิจัยบอกว่า การถูอย่างเดียวลดเชื้อโรคได้ 95% ส่วนเชื้อโรคที่เหลือ 5% น้ำยาแช่สามารถกำจัดได้ นากจากนี้ การถูยังช่วยลดคราบจุลินทรีย์ (Biofilm) ที่เกาะผิวเลนส์ได้ด้วย
ดังนั้น การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง คือ  ต้องถูด้วยน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ แล้วจึงแช่เลนส์นั้นในน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์
อีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก คือ การแช่เลนส์ไว้ในน้ำเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ความจริงแล้ว น้ำเกลือไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แต่น้ำเกลือจะทำให้เชื้อโรคโตเร็วขึ้น แทนที่จะฆ่าเชื้อ กลายเป็นเพาะเชื้อตลอด 8-10 ชั่วโมงที่เราไม่ได้ใส่เลนส์
การใช้น้ำเกลือที่ถูกต้อง คือ ใช้น้ำเกลือในการล้างน้ำยาที่ใช้ฟอกถูเลนส์ ในรายที่เซ้นสิทีฟกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้น้ำเหลือในการล้างทิ้ง
หากใช้และดูแลผิดวิธีคอนแทคเลนส์จะเป็นอันตรายต่อดวงตา ก่อนใช้ควรรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์และศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน หากมีปัญหาควรหยุดใช้ แล้วพบจักษุแพทย์ทันที
ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์
ที่มา : นิตยสารชีวจิต ปีที่ 12 ฉบับ 1 ก.ย. 2553 คอลัมน์คนไข้ถาม คุณหมอตอบ ทุกปัญหาคอนแทคเลนส์คนทำงาน โดย นายแพทย์คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ประจำคลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา
ที่มาภาพ : http://www.sxc.hu/photo/385768